ทอผ้าก่วย
วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านผักแว่นหมู่ที่ 4
มีที่มาจากการนำวัฒนธรรมทางด้านการแต่งกาย ซึ่งอยู่คู่มาช้านานสืบต่อรุ่นสู่รุ่นคือ ผ้าก่วย (ก่วย หมายถึง สานสลับกันไปมา) มีลักษณะเป็นผ้าลายขวางสีดำสลับแดงเข้ม โบราณจะใช้สีดำจากการย้อมมะเกลือและสีแดงย้อมจากครั่ง ตามประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาผ้าก่วยเป็นมรดกประจำบ้านที่ทุกครัวเรือนต้องมีไว้คู่กับผ้าวา (ผ้าสีนำตาลเส้นทอสลับไหมสีน้ำตาลสลับเหลือง ออกสีน้ำตาลเหลือบม่วง) ซึ่งใช้เป็นผ้าคลุมศพ ไม่ให้เกิดความอุจาดหากมีกรณีการเสียชีวิตต้องพาดคลุมบนราวไม้ไว้ก่อนข้างล่างมีศพ ที่รอการทำหีบศพจนเสร็จแล้วค่อยบรรจุศพลงหีบ ผ้าก่วย เป็นผ้าที่นำมาพาดไว้บนหลังคาหีบศพ ตามความเชื่อที่ว่าจะให้ผู้ตายนำไปใช้ในภพใหม่ แต่ก่อนเผาศพก็จะทำพิธีอุปโลกน์ เพื่อนำผ้าไปถวายพระสงฆ์และพระสงฆ์สวดสะเดาะห์แล้วคืนผ้าก่วยให้เจ้าภาพนั้นๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นายเทียน แผลงฤทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นก ได้มีนโยบายและนำใช้ข้อมูลจากงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นและข้อมูลการวิจัยชุมชน (RECAP) มาพัฒนาวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ เพื่อให้มีการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดการพัฒนาอาชีพในตำบลให้มีความเข้มแข็ง จึงได้มีการค้นหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการทอผ้าก่วย และมอบหมายให้พนักงาน ข้าราชการ องค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นก นำผ้าก่วยที่มีมาตัดเป็นชุดใส่ทำงาน หรือใส่ในวันที่มีการรับแขกบ้านแขกเมือง หรือมีงานบุญงานประเพณี เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และเชิดชูวัฒนธรรมการแต่งกาย จนมีชาวบ้านในตำบลยางขี้นกเริ่มนำผ้าก่วยมาตัดชุด ทำผ้าถุง และมีการร่วมกันสร้างข้อตกลงของผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ขอความร่วมมือให้ชาวตำบลยางขี้นก สวมใส่ผ้าซิ่นก่วยในงานสำคัญ งานบุญประเพณี งานวัฒนธรรม จนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ขยายผลไปสู่ตำบลอื่นๆในอำเภอเขื่องใน และเริ่มมีการซื้อขายและเป็นที่ต้องการอย่างแพร่หลาย จนขาดตลาดและไม่เพียงพอ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๖๑ องค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นก ได้มีการรวบรวมข้อมูลปราชญ์ชาวบ้าน จากบ้านผักแว่น หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๔ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาด้านการทอผ้าก่วยมากที่สุด มาจัดตั้งกลุ่มเพื่อส่งเสริมและการพัฒนาอาชีพในการทอและผลิตผ้าก่วย เป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมการแต่งกายตลอดจนภูมิปัญญาด้านการทอผ้า และการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ในท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นกได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มาส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพและพัฒนาลวดลายบนผืนผ้าก่วย และมีการทอผ้าลายอัตลักษณ์ จดลิขสิทธิ์ลายอัตลักษณ์เรียบร้อย ได้แก่ ลายลูกยางนา ลายนกกระยาง ลายดอกผักแว่น ลายใบบัว และลายต้นยางนา การพัฒนาสีให้มีความหลากหลาย วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านผักแว่นหมู่ที่ ๔ มากยิ่งขึ้นจากเดิมมีสีดำและสีแดงเข้มเท่านั้น ก็มีการนำสีชมพู เขียว ฟ้า เหลือง น้ำตาล มาย้อมและมัดหมี่เป็นลวดลายสวยงาม จนเป็นที่นิยมแพร่หลาย จากตำบลยางขี้นก สู่อำเภอ สู่จังหวัด และทั่วประเทศ และในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ กลุ่มทอผ้าก่วย ได้จดทะเบียนเป็น วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านผักแว่นหมู่ที่ ๔ และร่วมเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางชีวภาพท้องถิ่น ตำบลยางขี้นก ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มจำนวนทั้งสิ้น ๕๐ คน และมีปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้าก่วยและสามารถถ่ายทอดต่อได้ จำนวน ๒๕ คน มีความเชี่ยวชาญด้านการมัดหมี่ลวดลายและสามารถถ่ายทอดต่อได้ จำนวน ๑๒ คน มีความเชี่ยวชาญด้านการย้อมสี ผสมสี และสามารถถ่ายทอดต่อได้ จำนวน ๑๕ คน และวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านผักแว่นหมู่ที่ ๔ จัดทำศูนย์เรียนรู้ด้านการทอผ้าก่วย ผ้าพื้นเมือง ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านผักแว่น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ตามหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น และหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนประถมศึกษา และสมาชิกกลุ่มได้ขยายผลไปยังเครือข่ายและหน่วยงานที่เชิญไปเป็นวิทยากร และมีคณะเข้ามาศึกษาดูงานโดยตลอด ผลิตภัณฑ์ผ้าก่วยของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านผักแว่นหมู่ที่ ๔ ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าโอท้อประดับ ๔ ดาว ในปี พ.ศ.๒๕๖๕ วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านผักแว่นหมู่ที่ ๔ มีความเข้มแข็งและมีการถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เพื่อสืบสานและต่อยอดในการสร้างอาชีพได้ ช่องทางการสั่งจองผ้าก่วย โดยติดต่อที่องค์การบริหารส่วนตำบลยางขี้นก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านผักแว่นหมู่ที่ ๔ และเฟสบุ้คกลุ่มผ้าก่วย และเพจผ้าก่วย ซึ่งเป็นช่องทางที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อ สั่งจอง ผ้าก่วยที่เป็นผ้าผืนไปตัดเอง หรือสั่งตัดโดยช่างตัดเสื้อผ้าที่ทางกลุ่มมีไว้บริการลูกค้าในราคาที่ย่อมเยาว์ ที่ลูกค้าสามารถออกแบบเองได้ และจัดส่งสินค้าทางไปรณีย์และบริการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วได้ ความโดดเด่นของผ้าก่วยแต่ละผืนที่ได้สวมใส่เป็นเจ้าของ จะเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนของใคร เพราะแต่ละผืนผู้ทอ จะออกแบบสี ลวดลาย ไม่เหมือนเดิมและพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างทันสมัยใส่ได้ทุกเพศทุกวัย การนำเสนอผ้าก่วยเพื่อจัดแสดงสินค้า ณ เวทีสานพลัง ท้องถิ่น ณ อิมแพคอารีน่าเมืองทองธานี เป็นประจำทุกปี ในช่วงวันที่ ๗-๙กรกฎาคม ของทุกปี การจัดแสดงสินค้าในงานมหกรรมผ้าไทยอีสาน ใส่ผ้าไทยอย่างไรก็สนุก ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า อุบลราชธานี และงานประเพณีที่ทางอำเภอเขื่องในจัดขึ้น งานวัฒนธรรม ประเพณีที่ทางจังหวัดอุบลราชธานีจัดขึ้น ตลอดจนการนำผ้าก่วยไปเป็นของฝากของที่ระลึก และหน่วยงานสั่งจองเพื่อตัดชุดของหน่วยงานเป็นต้น